วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2558

วันนี้ คุณได้คุยกับลูกๆ ของคุณหรือยัง



โดย ดร. อาอิชะฮฺ ฮัมดัน
คุณมีการสนทนาที่มีความหมายร่วมกันบ้างไหม? คุณรู้ไหมว่าลูกๆของคุณประสบความสำเร็จกับเรื่องใดในวันนี้ เขามีความรู้สึกอย่างไร เขามีความกังวลอะไรหรือไม่? ลูกๆของคุณรู้ไหมว่าคุณห่วงใยพวกเขา ในอิสลาม ความสัมพันธ์เครือญาติ และครอบครัวมีความเหนียวแน่นมาก และเป็นสิ่งที่มักจะมีความเกี่ยวพันกันไปตลอดชีวิตของเรา มีผลกระทบที่ร้ายแรงมากสำหรับคนที่ตัดสินใจที่จะทำลายความสัมพันธ์เหล่านี้
อัลลอฮฺ   ตรัสไว้ในกุรอาน ซูเราะฮฺ ที่ 47 อายะฮฺที่ 22 – 23 ว่า...
“ดังนั้นหวังกันว่า หากพวกเจ้าผินหลังให้ (กับการอีมานแล้ว) พวกเจ้าก็จะก่อความเสียหายในแผ่นดิน และตัดความสัมพันธ์ทางเครือญาติของพวกเจ้ากระนั้นหรือ ชนเหล่านี้คือบรรดาผู้ที่อัลลอฮฺทรงสาปแช่งพวกเขา ดังนั้นพระองค์จึงทรงทำให้พวกเขาหูหนวกและทรงทำให้พวกเขาตาบอด”
ท่านศาสดา  กล่าวว่า “ ใครก็ตามที่ทำลายห่วงโซ่สัมพันธ์เครือญาติ จะไม่ได้เข้าสู่สรวงสวรรค์” (อัล​​บุคอรีและมุสลิม)
องค์ประกอบสำคัญของความสัมพันธ์ในครอบครัวของเราคือการสื่อสาร ตามความเป็นจริงแล้ว โดยปกติ ถึงไม่ต้องสื่อสาร ก็ยังจะมีความสัมพันธ์อยู่แล้วในระหว่างผู้คน ส่วนผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมในบ้านหลังเดียวกันนั้น การปฏิสัมพันธ์ที่จำกัดหรือการเป็นศัตรูจะทำให้เกิดความไม่พอดีกับเกณฑ์การรักษาความสัมพันธ์เครือญาติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาความสัมพันธ์ที่มีความหมายในครอบครัวของเรา เราต้องรู้วิธีการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพและมีความจริงใจต่อกันและกัน ส่วนหลักๆของสิ่งนี้เกี่ยวข้องกับทักษะ และวิธีใช้การเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติอย่างเพียรพยายาม และใช้ความจริงใจ


ต่อไปนี้คือข้อแนะนำในการเสริมสร้างความสัมพันธ์เหล่านี้
1) การฟังอย่างกระตือรือร้น
คุณอาจจะประหลาดใจที่พบว่าสิ่งสำคัญที่สุดของการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพคือการฟัง ซึ่งหมายความว่าผู้ฟังให้ความสนใจต่อผู้พูดอย่างเต็มที่ และพยายามที่จะเข้าใจคำพูดและความรู้สึกของเขา/เธอ ผู้ฟังควรงดจากการตัดสินใดๆก่อน แต่ให้ความสนใจ และให้ความเคารพในสิ่งที่เขา/เธอพูด แล้วเขาหรือเธออาจจะย้ำเนื้อหา และความรู้สึกที่จะแสดงให้เห็นว่าเขา/เธอก็มีความจริงใจอยู่ ท่านนบี  มักจะให้ความสนใจอย่างเต็มที่เสมอต่อทุกคนที่ท่านพูดคุยด้วย แม้แต่ต่อศัตรูของท่าน และบรรดาผู้ที่ท่านมีความเห็นต่าง
ในทางกลับกัน เมื่อท่านพูดกับสหายของท่าน พวกเขาก็จะตั้งใจฟังท่าน และให้ความสำคัญกับทุกคำที่ท่านกล่าว
2) ระดับความเข้าใจ
พ่อแม่ผู้ปกครองควรตระหนักไว้เสมอถึงอายุและระดับความเข้าใจของลูกๆ และควรพูดคุยกับเขา/เธอตามระดับของพวกเขา ท่านนบี   กล่าวว่า “เมื่อพูดกับผู้คน ให้คำนึงถึงระดับความเข้าใจของพวกเขา ท่านชอบที่จะให้พวกเขาคิดว่าสิ่งที่ท่านบอกพวกเขาจากอัลลอฮฺ  และศาสนทูตของพระองค์นั้นเป็นเรื่องโกหกหรือ?” (อัล​​บุคอรี) นี่เป็นสิ่งสำคัญที่เด็กๆ จะต้องเข้าใจในสิ่งที่ผู้ใหญ่พูดออกไป อย่าให้ความคาดหวังของพ่อแม่นั้นเกินความสามารถของเด็กที่จะรับได้ซึ่งจะกลายมาเป็นต้นเหตุแห่ง​​ปัญหา และอย่าสร้างความยุ่งยากให้กับเด็กโดยไม่จำเป็น
นี่เป็นเรื่องที่น่าสนใจโดยเฉพาะต่อประเด็นที่อ่อนไหวง่าย อย่างเช่นการพูดคุยเรื่องความตาย เรื่องความสงบเสงี่ยมเจียมตนของแต่ละบุคคล และความรับผิดชอบของผู้ใหญ่ ระดับเหล่านี้มีความจุกจิกแตกต่างกันออกไปมากมาย และจะต้องเลือกระดับที่ถูกต้องสำหรับเด็กแต่ละวัย วิธีหนึ่งที่จะตรวจสอบให้แน่ใจได้ว่าเราควรจะใช้วิธีไหนนั้น ให้วัดดูที่ประเภทของคำถามที่เด็กใช้ถามเรา

3) มารยาทของมุอฺมิน (ผู้ศรัทธา )
ผู้ศรัทธาคือคนที่เชื่อมั่นในสาสน์จากอัลลอฮฺ  และปฏิบัติตามซุนนะฮฺของท่านนบีมุฮัมหมัด  ในเรื่องความสัมพันธ์นั้น ผู้ศรัทธาจะต้องแสดงให้เห็นถึงความซื่อสัตย์ ความเมตตา ความอดทน อดกลั้น เป็นธรรม มีความน่าเชื่อถือ ฯลฯ เขาจะหลีกเลี่ยงจากการกระเซ้าเย้าแหย่ กล่าวโทษ ดูแคลน เยาะเย้ย พูดมาก พูดไร้สาระ และจับผิด มีโองการกุรอานและอัลฮะดีษจำนวนมากที่ให้คำอธิบายในรายละเอียดของหัวข้อเหล่านี้ไว้ เช่น
แท้จริง อัลลอฮฺทรงอยู่ร่วมกับผู้อดทนทั้งหลาย  (2:153)
จงพูดจาแก่เพื่อนมนุษย์อย่างดี (2:83)
คำพูดที่ดี และการให้อภัยนั้น ดียิ่งกว่าทานที่มีการก่อความเดือดร้อน (2:263)
 “มุสลิมเป็นพี่น้องกัน เขาจะไม่ทำผิดต่อกัน หรือดูถูกกัน หรือทำลายเกียรติกัน”  
(ซอเฮี้ยะหฺมุสลิม)  
และในอีกฮะดีษหนึ่ง ท่านนบี  กล่าวว่า
“สิ่งที่จะทำให้คนส่วนใหญ่เข้าสู่สรวงสวรรค์คือความเกรงกลัวอัลลอฮฺ และมารยาทที่ดีงาม” (อัตติรมิซียฺ)
หลักการเหล่านี้ควรจะนำมาใช้ในการสนทนากับทั้งเด็ก วัยรุ่นและผู้ใหญ่ และก็น่าจะสำคัญมากกว่าสำหรับคนหนุ่มสาว เพราะเราเป็นตัวอย่างสำหรับพวกเขา เราต้องการให้เด็กของเราเรียนรู้อะไร? เราไม่สามารถคาดหวังเอาความเมตตา และความเคารพจากลูกหลานของเราได้หรอก ถ้าเราไม่ให้ความเมตตา และความเคารพต่อพวกเขา




4) หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง
ท่านนบี  กล่าวว่า “ถ้าผู้หนึ่งเลิกโต้เถียงเนื่องจากเขาเป็นฝ่ายผิด บ้านหลังหนึ่งในสวนสวรรค์จะถูกสร้างขึ้นสำหรับเขา แต่ถ้าผู้หนึ่งเลิกโต้เถียงแม้ว่าเขาจะเป็นฝ่ายถูกก็ตาม เขาจะได้บ้านหลังหนึ่งในส่วนที่สูงส่งที่สุดของสวนสวรรค์” (อัตติรมิซียฺ) คุณค่าของคำสอนนี้วางอยู่บนหลักความจริงที่ว่าความขัดแย้งและข้อพิพาทนั้นจะนำไปสู่​​ความแตกหักทางความสัมพันธ์ ทำให้เกิดความเคียดแค้น ความเป็นศัตรู และความเกลียดชังกัน ผมได้ทำงานกับหลายๆครอบครัวที่สิ่งเหล่านี้ได้เกิดขึ้นแล้ว และมันกลายเป็นเรื่องยากมากที่จะรักษาบาดแผลนั้น และนำสมาชิกในครอบครัวกลับมารวมกันให้เหมือนเดิมอีกครั้ง ในที่สุด เราก็พูดได้แค่ว่ามันไม่น่าเลวร้ายถึงขั้นนี้เลย
ให้เราทั้งหมดทำการปรับปรุงรูปแบบของการสื่อสาร และปรับปรุงความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่นๆให้ดี เมื่อลูกของเรารู้สึกว่าพ่อแม่ของพวกเขาเข้าใจพวกเขา และยินดีที่จะรับฟังพวกเขา พวกเขาก็จะเปิดหัวใจของพวกเขา และพัฒนาความไว้วางใจให้เพิ่มขึ้น การเรียนการสอน ที่มีประสิทธิภาพ และมีระเบียบวินัยนั้น ไม่สามารถดำเนินการไปได้โดยไม่มีความไว้วางใจกัน ความเข้าใจกัน และความเคารพซึ่งกันและกันในระดับอันควร หากเรามีความกังวลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของบุตรหลานของเราที่ไม่ใช่ในแบบมุสลิม และมันมีผลกระทบต่อวิธีการที่เราใช้กับพวกเขา ทางที่ดีที่สุดที่เราทำได้คือสอน และให้คำแนะนำที่ดีแก่พวกเขา ให้พวกเขามีความรับผิดชอบ จงไว้วางใจพวกเขา และให้พวกเขารู้ว่าเราห่วงใยพวกเขา จากนั้นก็ขอดุอาอฺ (วิงวอนอัลลอฮฺ) และเชื่อในความกรุณา และความช่วยเหลือจากพระองค์ นี่เป็นอาวุธที่ดีที่สุดของเราท่ามกลางสังคมโลกที่ไม่เชื่อในอัลลอฮฺ ขออัลลอฮฺทรงช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่จะผูกเราแต่ละคนเข้าด้วยกันเป็นครอบครัว และเป็นที่มาแห่งความสุขและความพึงพอใจในบ้านของเราด้วยเถิด อามีน





แบ่งเวลาในแต่ละวันพูดคุยกับลูกๆของเรา หากเรามีลูกมากกว่าหนึ่งคน แต่ละคนควรจะได้รับเวลาแบบส่วนตัวกับเราในปริมาณที่เท่าๆกัน
อ่านหนังสือเกี่ยวกับอิสลามกับลูกๆของเราที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์กับผู้อื่น และเรื่องราวเกี่ยวกับบรรดานบี  และบรรดาซอฮาบะฮฺ  เรื่องราวเหล่านี้จะให้แนวทางที่จำเป็นกับเรา พร้อมทั้งแรงบันดาลใจ
ลองบันทึกการสนทนาของเราเอาไว้สักครั้ง และลองให้คะแนนตัวเอง หรือให้คนอื่นเป็นฝ่ายแนะนำเรา นี่เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบส่วนที่แย่ๆของเรา และจะนำไปสู่การปรับปรุง
ขอการแนะนำจากผู้ปกครองคนอื่นๆเมื่อมีความจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มี ประสบการณ์มากกว่า การทำเช่นนี้อาจช่วยประหยัดเวลา และหลีกเลี่ยงความยุ่งยากที่ไม่น่าจะเกิด และไม่ต้องเจ็บปวดใจ